กลับไปรายการกระดานข่าว ตอบกลับ โพสใหม่

ต้อหินเฉียบพลัน Acute glaucoma

ต้อหิน เป็นโรคตาชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้

โรคนี้ไม่เกี่ยวกับหินแต่อย่างใด แต่เรียกชื่อว่าต้อหินก็เนื่องจากโรคนี้มีภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติอันเกิดจากน้ำเลี้ยงภายในลูกตาระบายออกข้างนอกลูกตาไม่ได้ เกิดการคั่งอยู่ภายในลูกตาอย่างสะสมเหมือนการฉีดน้ำเข้าไปในลูกโป่ง จึงมีความดันภายในลูกตาสูงขึ้นเรื่อยๆถ้าใช้นิ้วคลำลูกตาจากภายนอก จะพบว่าลูกตามีความแข็งตัวมากกว่าปกติจึงเปรียบว่าคล้ายหินนั่นเอง

♦ ชื่อภาษาไทย ต้อหินเฉียบพลัน
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Acute glaucoma
♦ สาเหตุ
เกิดจากโครงสร้างของลูกตาผิดแปลกไปจากคนปกติ คือมีช่องลูกตาหน้า(ช่องว่างระหว่างกระจกตากับแก้วตา) แคบและตื้นจึงมีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา (มุมระหว่างกล้ามเนื้อม่านตากับกระจกตา) แคบกว่าปกติ เมื่อมีเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว (ทำให้เห็นรูม่านตาขยายตัว)เช่น อยู่ในที่มืด มีอารมณ์โกรธ ใช้ยาหยอดหรือยากินที่ทำให้รูม่านตาขยาย(เช่น อะโทรพีน, ไฮออสซีน) ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้นน้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกไปไม่ได้ ก็เกิดคั่งอยู่ในลูกตาทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นเฉียบพลัน เกิดอาการของโรคต้อหินเฉียบพลัน(ปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว) ขึ้นทันทีทันใด

ต้อหินเฉียบพลันมักพบในผู้ที่มีสายตายาว (มองใกล้ไม่ชัด) เพราะมีกระบอกตาสั้น และช่องลูกตาหน้าแคบ และเกิดในผู้สูงอายุเป็นส่วนมากเนื่องเพราะแก้วตาของผู้สูงอายุมีความหนาตัว ทำให้ช่องลูกตาที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบมากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเกิดต้อหิน มากขึ้น ต้อหินชนิดนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จึงมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย


♦ อาการ
อยู่ๆผู้ป่วยมีอาการปวดลูกตาและศีรษะข้างหนึ่งอย่างฉับพลันรุนแรงต่อเนื่องนานเป็นวันๆกินยาบรรเทาปวดก็ไม่ทุเลา มักจะปวดจนนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้ง และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
บางรายอาจมีอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเป็นพักๆนำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการมักจะเป็นตอนหัวค่ำหรือขณะอยู่ในที่มืด (กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว รูม่านตาขยาย)หรือขณะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ (เพราะจะมีเลือดไปคั่งที่กล้ามเนื้อม่านตาทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ยิ่งแคบมากยิ่งขึ้น)แต่ละครั้งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 ชั่วโมง ก็ทุเลาไปได้เองหรือนอนพักสักครู่ก็อาจทุเลาไปได้เอง




♦ การแยกโรค
อาการปวดศีรษะหรือปวดตาข้างเดียว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ไมเกรน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ (บริเวณขมับ) ข้างเดียวและร้าวเข้ากระบอกตา เป็นๆหายๆ มาตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว แต่ละครั้งปวดนาน 4-72 ชั่วโมงมักมีเหตุกระตุ้นให้กำเริบ เช่น ถูกแสงจ้า ใช้สายตามาก ได้ยินเสียงดังได้กลิ่นฉุนๆ อดนอน อากาศร้อน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า ขณะมีประจำเดือนเป็นต้น การตรวจดูตา จะไม่พบสิ่งผิดปกติ (ซึ่งแตกต่างจากต้อหินเฉียบพลันที่จะมีอาการตาแดง ม่านตาขยาย)

- ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงรอบๆ กระบอกตา มีเสมหะไหลลงคอ ขากออกมาเห็นเป็นเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว มักจะมีอาการหลังเป็นหวัด

- ม่านตาอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาข้างเดียว ตาพร่ามัว ตาแดง อาการคล้ายกับต้อหินเฉียบพลัน แต่จะตรวจพบรูม่านตาหดตัว

- โรคตาอื่นๆ เช่นตาอักเสบ (เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตา) แผลกระจกตา (ปวดตารุนแรง ตาแดงอาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ตา เช่น ถูกใบไม้ ใบหญ้าบาด)

- เลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและเป็นต่อเนื่องเป็นวันๆบางรายอาจมีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน



♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบว่าตาข้างที่ปวด มีลักษณะผิดปกติคือตาแดงเรื่อๆ รอบๆ บริเวณตาดำ กระจกตาบวมขุ่น (มองไม่ชัด)และรูม่านตาโตกว่าข้างที่ปกติ
เมื่อทำการตรวจวัดความดันลูกตา จะพบว่าสูงกว่าปกติ

♦ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดศีรษะและปวดตาข้างเดียว ให้ตรวจดูตาว่ามีลักษณะตาแดงหรือไม่
ถ้ามั่นใจว่าไม่มีอาการตาแดง และมีประวัติเคยเป็นไมเกรนมาก่อนให้กินยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล) แล้วนอนหลับสักพักถ้าทุเลาได้ก็แสดงว่าน่าจะเป็นไมเกรน

ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใด ข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- กินยาบรรเทาปวดแล้วไม่ทุเลา
- ปวดรุนแรง ปวดจนนอนไม่หลับ หรือรู้สึกปวดมากกว่าที่เคยเป็น
- ตาแดง
- มีอาการตาพร่ามัวอย่างต่อเนื่อง
- มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว

♦ การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน แพทย์จะรีบให้การบำบัดทันที เช่นให้ยากินและยาหยอดตาที่มีตัวยาในการลดความดันลูกตาแล้วนัดมาผ่าตัดเพื่อระบายน้ำเลี้ยงลูกตา
บางรายแพทย์อาจทำการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตาด้วยแสงเลเซอร์ให้ทันทีซึ่งใช้เวลาไม่มากในการทำ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที ความดันลูกตาที่สูงขึ้นฉับพลัน จะทำลายจอประสาทตา จนทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดระบายน้ำเลี้ยงลูกตา จะช่วยให้โรคหายขาดได้ สายตาเป็นปกติ
แต่ถ้าปล่อยไว้ จนจอประสาทตาถูกทำลายก็จะทำให้สายตาพิการอย่างถาวร

♦ การป้องกัน
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กความดันลูกตาเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัวถ้าพบว่ามีความดันลูกตาสูง แพทย์จะได้ให้ยาควบคุมและเฝ้าติดตามเพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคต้อหินตามมา

♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ประปราย พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยกลางคนขึ้นไป

แหล่งที่มา : http://www.doctor.or.th/node/5891
บริษัท สยามเซฟตี้พลัส จำกัด อุปกรณ์เซฟตี้ |อุปกรณ์ความปลอดภัย|Safety Shoes  
กลับไปรายการกระดานข่าว

เพื่อนบ้าน :อุปกรณ์ความปลอดภัย,safety shoes,safety footwear,กลูต้า