กลับไปรายการกระดานข่าว ตอบกลับ โพสใหม่

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานกับนายจ้าง

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน รุ่นเก่าๆ หลายท่านมักจะบอกว่า การทำอาชีพนี้ คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ ความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงาน เนื่องจากตำแหน่ง จป. ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่เจ้าของบริษัททุกๆบริษัทตั้งใจจะให้มี แต่เป็นตำแหน่งที่กฏหมายบังคับให้มี
ผู้มีอำนาจในบริษัทหลายท่านมองว่า ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นการเพิ่มต้นทุนของบริษัทให้สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ไม่ได้คิดพิจารณาไปถึงต้นทุนของความสุญเสียที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
จะเห็นได้ว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ บุคคลที่สำคัญที่สุด คือ เจ้านาย ผู้มีอำนาจตัดสินใจ
สำหรับนายจ้าง กำไรต้องมาก่อน
ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของนายจ้างก่อนว่า สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ผลกำไร (ถ้าไม่มีกำไร บริษัทก็เจ๊งแน่นอน) ซึ่งตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่จะคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัยเป็นอับดับแรก
ดังนั้นการที่เราจะทำให้เจ้านายเห็นด้วยกับงานด้านความปลอดภัยเราจะต้องทำให้เจ้านายมองเห็นว่า งานด้านความปลอดภัยเป็นการจ่ายเงินลงทุนที่จะทำให้ผลกำไรมากขึ้นในภายหลัง – เปรียบเทียบแผนงานความปลอดภัยให้เจ้านายเห็นว่า โครงการที่เสนอไป ในแง่ของต้นทุนถ้าทำ กับ ไม่ทำ อันไหนจะดีกว่ากัน
นายจ้างไม่ชอบความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
นายจ้าง หรือ นักบริหาร ทุกคนจะหลีกเลีี่งความเสี่ยงให้มากที่สุด จะเห็นได้จากทฤษฏีต่างๆในการลงทุนสำหรับนักบริหาร (เช่น อย่าใส่ไข่ในตระกร้าใบเดียว – คือ อย่าลงทุนในกิจการประเภทใด ประเภทหนึ่ง ลูกค้ากลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง) ดังนั้น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ต้องทำให้นายจ้างเห็นให้ได้ว่า งานด้านความปลอดภัยในการทำงาน จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจพัง เช่น การเสนอมาตรการป้องกันอัคคีภัย ก็ต้องทำให้เจ้านายเห็นภาพว่าไฟไหม้ครั้งเดียว ธุรกิจพังยับเยิน โดยยกประเด็นของโรงงานอื่นๆที่เกิดขึ้นให้เห็น
จิตวิทยาหมู่
เป็นหลักธรรมชาติของมนุษย์อีกอย่างหนึ่งที่มักจะทำ หรือ เชื่อคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น ถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริงก็ตาม (ต่อให้คุณทำงานขยันขันแข็ง ถ้าคนกลุ่มหนึ่ง บอกว่าคุณขี้เกียจ คุณคิดว่าเจ้านายจะเชื่อใคร ระหว่างคุณคนเดียว กับคนเป็นกลุ่ม)
ดังนั้น คุณอาจจะต้องเป็นนักลอปบี้ยิสต์ (แบบนักการเมือง) คือหาแนวร่วมก่อน แล้วอาจจะเสนอแผนงานในที่ประชุมของคณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน (อย่าลืมหาแนวร่วมก่อนนะครับ เพราะเสนอไปแล้วมีคนเห็นด้วยน้อยกว่าก็จบ) ลองคิดดูว่าถ้าในที่ประชุมเห็นด้วยหมด โอกาสที่เจ้านายจะเห็นด้วย มีมากกว่า หรือน้อยกว่า
ใคร คือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง
หาให้เจอครับ แล้วเข้าให้ถึง ไม่จำเป็นต้องเข้าหาด้วยตัวเอง ให้ผู้ที่เหมาะสมเข้าหาแทนก็ได
คุยกับระดับเดียวกัน
ถ้ามีใครมาคุยกับคุณเรื่องอเมริกันฟุตบอล แต่คุณไม่ชอบ ก็คงคุยกันได้ไม่นาน เจ้านายก็เหมือนกันครับ นักบริหารก็มักจะชอบคุยกับนักบริหารด้วยกัน ดังนั้น รีบส่งเจ้านายไปอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับ บริหาร ให้ไปคุยกันในกลุ่มผู้บริหารด้วยกัน แล้วบางทีคุณอาจพบว่า เจ้านายกลับมาเขียนโครงการความปลอดภัยเองก็เป็นได้
ความกลัว
ทุกคนมีความกลัว ทำให้เจ้านายเกิดความกลัวหากไม่ปฏิบัติตามกฏหมายความปลอดภัย (แต่ห้ามไปแสดงการ พูดจาในลักษณะข่มขู่ )  โดยอาจจะให้เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด  หรือ บริษัทผู้ว่าจ้าง คอยช่วยเหลือ
เกียรติยศ ศักดิ์ศรี
เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของทุกคนครับ บางครั้งเสียเงินเท่าไรไม่ว่า แต่อย่าเสียหน้าละกัน ลองเข้าประกวดสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยดูสิครับ โดยอาจเริ่มจากระดับจังหวัดก่อนก็ได้ (ในปัจจุบัน มีบริษัท หลายบริษัท แข่งขันกันเรื่องสถานประกอบการดีเด่นในด้านความปลอดภัย บางบริษัทถึงขั้นประกาศห้ามเสียแชมป์เด็ดขาด – เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเสนออะไรคงผ่านหมด)
สำหรับวันนี้ก็มีข้อเสนอแนะคร่าวๆเพียงเท่านี้ครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน


ข้อมูลจาก thaisafetywork
บริษัท สยามเซฟตี้พลัส จำกัด อุปกรณ์เซฟตี้ |อุปกรณ์ความปลอดภัย|Safety Shoes  
กลับไปรายการกระดานข่าว

เพื่อนบ้าน :อุปกรณ์ความปลอดภัย,safety shoes,safety footwear,กลูต้า