กลับไปรายการกระดานข่าว ตอบกลับ โพสใหม่

พลาสติกในชีวิตประจำวันมีอะไรกันบ้าง

พอลิเอทิลีน (Polyethylene : PE)
          โดยทั่วไปแล้ว  พอลิเอทิลีน มีสีขาวขุ่นโปร่งแสง  มีความลื่นมันในตัว เมื่อสัมผัสจึงรู้สึกลื่น หยุ่นตัวได้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส  ไม่ติดแม่พิมพ์  มีความเหนียว  ทนความร้อนได้ไม่มากนัก แต่ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี เป็นฉนวนไฟฟ้า ใส่สีผสมได้ง่ายมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจึงลอยน้ำได้  เมื่อความหนาแน่นสูงขึ้นจะทำให้มีความแข็งและความเหนียวเพิ่มขึ้น  อุณหภูมิหลอมตัวสูงขึ้น และอัตราการคายก๊าซเพิ่มขึ้น  เมื่อความหนาแน่นลดลง จะทำให้อัตราการเสื่อมสลายของผิวเพิ่มขึ้น กล่าวคือผิวจะแตกรานได้ง่ายขึ้น
          สมบัติทั่วไป
            
- ยืดหยุ่นได้ดี  เหนียวมากที่อุณหภูมิต่ำ
            - มีความทนทานต่อสารเคมีได้ดีมาก
            - ทนต่อสภาวะอากาศได้ดีพอสมควรอากาศสามารถซึมผ่านได้ดี
            - หดตัวแม่พิมพ์ได้ดีมาก  ทำให้ถอดจากแม่พิมพ์ได้ง่าย
            - เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก
            - ผสมสีได้ง่าย  ทำให้ผลิตเป็นฟิล์มใส ฟิล์มสี  ฟิล์มโปร่งแสงหรือทึบแสงได้
            - ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยพอลิเอทิลีน
            
ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่  ขวดใส่สารเคมี  ขวดใส่น้ำ  ลังหรือกล่องบรรจุสินค้า  ภาชนะต่าง ๆ เครื่องเล่นของเด็ก  ถุงเย็น  ถาดทำน้ำแข็ง ชิ้นส่วนแบตเตอรี่  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ฉนวนไฟฟ้า  ถุงใส่ของแผ่นฟิล์มสำหรับห่อของโต๊ะ และเก้าอี้


พอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP)
          พอลิโพรไพลีน  มีลักษณะขาวขุ่น  ทึบแสงกว่าพอลิเอทิลีน  มีความหนาแน่นในช่วง๐.๘๙๐ – ๐.๙๐๕  ด้วยเหตุนี้จึงสามารถลอยน้ำได้เช่นเดียวกันกับพอลิเอทิลีน  ลักษณะอื่น ๆ คล้ายกับพอลิเอทิลีน
         
สมบัติทั่วไป
              
- มีผิวแข็ง ทนทานต่อการขีดข่วนคงตัวไม่เสียรูปง่าย
              - สามารถทำเป็นบานพับในตัว มีความทนทานมาก
              - เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก  แม้ที่อุณหภูมิสูง
              - ทนทานต่อสารเคมีส่วนมาก  แต่สารเคมีบางชนิดอาจทำให้พองตัว หรืออ่อนนิ่มได้
              -  มีความเหนียวที่อุณหภูมิตั้งแต่ ๑๐๕  องศาฟาเรนไฮต์ไปจนถึง ๑๕ องศาฟาเรนไฮต์  (๔๐  องศาเซลเซียส  ถึง -๑๐ องศาเซลเซียส)  แต่ที่ ๐ องศาฟาเรนไฮต์ จะเปราะ
              - มีความต้านทานการซึมผ่านของไอน้ำและก๊าซได้ดี
              - สามารถทนอุณหภูมิสูงที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ  (Sterilization  :  ๑๐๐ oC) ได้
              - ผสมสีได้ง่ายทั้งลักษณะโปร่งแสงและทึบแสง
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิโพรไพลีน
               
ผลิตภัณฑ์ที่พบเสมอคือ กล่องเครื่องมือ กระเป๋า  ปกแฟ้มเอกสาร  กล่องและตลับเครื่องสำอาง เครื่องใช้ในครัวเรือนกล่องบรรจุอาหาร  อุปกรณ์ของรถยนต์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรม  อุปกรณ์ทางการแพทย์ขวดใส่สารเคมี  กระป๋องน้ำมันเครื่องกระสอบข้าว  และถุงบรรจุปุ๋ย

พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride : PVC)
       พอลิไวนิลคลอไรด์  เป็นพอลิเมอร์ที่สำคัญที่สุดในกลุ่มไวนิลด้วยกัน มักเรียกกันทั่วไปว่า  พีวีซี  เนื้อพีวีซีมักมีลักษณะขุ่นทึบแต่ก็สามารถผลิตออกมาให้มีสีสันได้ทุกสีเป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดี ตัวมันเองเป็นสารที่ทำให้ไฟดับจึงไม่ติดไฟ  มีลักษณะทั้งที่เป็นของแข็งคงรูปและอ่อนนุ่มเหนียว เรซินมีทั้งที่เป็นเม็ดแข็งหรืออ่อนนุ่ม และเป็นผงจึงสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง
         
สมบัติทั่วไป
            
- มีความแข็งแรงดี  ทนทานต่อสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมปกติ
             - ต้านทานต่อสารเคมีและน้ำ
             - เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี
             - สามารถผสมสีและแต่งสีได้อย่างไม่จำกัด
             - สามารถเติมสารเติมแต่งต่างๆ เพื่อปรุงแต่งสมบัติของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่แข็ง และคงตัว จนถึงอ่อนนิ่ม และยืดหยุ่นมากๆ
             - มีสมบัติอื่นๆ กว้างขวางและสามารถสลายตัวเอง
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์
               
ผลิตภัณฑ์ทั่วไป ได้แก่ หนังเทียมซึ่งมีความอ่อนนุ่มกว่าหนังแท้สำหรับหุ้มเบาะเก้าอี้  หรือปูโต๊ะ เคลือบกระดาษและผ้ากระเป๋าถือของสตรี  กระเป๋าเดินทาง  กระเป๋าใส่สตางค์  รองเท้า  เข็มขัด  หุ้มสายไฟฟ้า  สายเคเบิล  หุ้มด้ามเครื่องมือ  หุ้มลวดเหล็ก  ท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟฟ้า  อ่างน้ำ  ประตู  หน้าต่าง

พอลิไวนิลแอซีเตต (Polyvinyacetate : PVA)
          เป็นพอลิเมอร์ที่มีแขนงหนาแน่น  มีลักษณะโมเลกุลแบบอะแทกติก  ไม่มีความเป็นผลึก  จึงมีลักษณะอ่อนนิ่มมากจนเป็นของเหลวข้นหนืด  สีขุ่นขาว  เมื่อแห้งจะใสเนื่องจากความอ่อนนิ่มจนมีลักษณะเป็นของเหลวข้นหนืด  จึงไม่สามารถหล่อขึ้นรูปด้วยวิธีแม่พิมพ์ใดๆ ได้
         
สมบัติทั่วไป
            
- อ่อนนิ่ม ง่ายต่อการทำเป็นอีมัลชัน
             - อุณหภูมิของการหล่อแม่พิมพ์ต่ำ จึงไม่เหมาะที่จะหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์
             - ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น  และไม่มีรส
             - เมื่อแห้งจะมีความโปร่งใสมากขึ้น
             - มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น
         
การใช้งาน
            
เรซินชนิดนี้ใช้ทำกาวในรูปของอีมัลชันสำหรับติดไม้ กระดาษ  ผ้า  และหนังเทียมมักเรียกกาวชนิดนี้ว่า  “กาวลาเท็กซ์” ใช้เป็นสารเหนียวในหมากฝรั่ง  ทำสี  และเคลือบหลอดไฟแว็บสำหรับถ่ายรูปในสมัยก่อน

พอลิสไตรีน (Polystyrene: PS)
          เป็นพอลิเมอร์เก่าแก่ที่รู้จักกันมานานแล้ว  โดยทั่วไปสไตรีนพอลิเมอร์จะมีความแข็ง เปราะแตกรานได้ง่าย แต่สามารถทำให้เหนียวขึ้นได้ โดยการเติมยางสังเคราะห์ บิวทาไดอีนลงไปซึ่งเรียกว่า สไตรีนทนแรงอัดสูง  (High impact styrene)  การใช้สไตรีนเป็นโคพอลิเมอร์  (พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์  ๒  ชนิด)  เพื่อปรับปรุงคุณภาพและสมบัติของพอลิเมอร์อื่นให้ดีขึ้น  เมื่อรวมตัวกับพอลิเมอร์อื่นจะทำให้มีคุณสมบัติเปลี่ยนไป เช่น  มีความเหนียวและความแข็งเพิ่มขึ้น  ทนความร้อนเพิ่มขึ้น  อุณหภูมิจุดหลอมตัวสูงขึ้น
          พอลิสไตรีนบริสุทธิ์มีลักษณะใสคล้ายกระจก  ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพอลิสไตรีนให้มีคุณภาพดีขึ้น มีความเป็นผลึกใส แข็ง และขึ้นรูปได้ง่าย
          พอลิสไตรีนเป็นพอลิเมอร์ที่มีอุณหภูมิหลอมเหลวเป็นช่วงกว้าง  ทำให้ง่ายต่อการหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์  สามารถเลือกตั้งอุณหภูมิและความดันของเครื่องจักรได้ง่าย  พอลิสไตรีนเป็นพอลิเมอร์ที่มีน้ำหนักเบา (ที่สุด) และมีราคาย่อมเยา
          สมบัติทั่วไป
            
- มีความแข็ง  แต่เปราะแตกรานง่ายน้ำหนักเบา ราคาถูก
             - ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น  มีความใส  ผิวเรียบ ใส่สีเติมแต่งได้ง่าย  และคงความโปร่งใสเช่นเดิม
             - ทนทานต่อสารเคมีทั่วไป  แต่ไม่ทนต่อสารไฮโดรคาร์บอนและตัวทำละลายอินทรีย์
             - เป็นฉนวนไฟฟ้า
             - ไม่ดูดความชื้น  เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ทำให้ดูดฝุ่นละอองได้ดี
            
- การหดตัวสูงเมื่อเย็นตัว ทำให้ถอดจากแม่พิมพ์ได้ง่าย แต่อาจเสียรูปและขนาดไปบ้าง
             - ไม่ทนต่อสภาพสิ่งแวดลอมภายนอกผิวเสื่อมสภาพเร็ว ไม่ทนต่อการถูกขีดข่วน
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิสไตรีน
            
พอลิสไตรีนเรซิน  มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นของเหลว  เหมาะสำหรับการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีต่าง ๆ  ผลิตภัณฑ์ทั่วไป  ได้แก่  ถ้วยจาน  แก้วน้ำ  ช้อนส้อม  ที่ใช้แล้วทิ้ง  กล่องบรรจุอาหาร และผลไม้  ไม้บรรทัด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ของเล่น  ด้ามลูกอมขนมเด็ก  ขวดหรือกระปุกใส่ยา   เฟอร์นิเจอร์บางอย่าง  ชิ้นส่วนในตู้เย็น  โฟมกันแตกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และฉนวนความร้อน

พอลิอะคริเลต (Polyacrylate)

          พอลิอะคริเลต มักเรียกกันทั่วไปว่า อะคริลิก เป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม สามารถผลิตได้จากมอนอเมอร์หลายชนิด พลาสติกประเภทนี้ที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ เมทิลเมทาคริเลต  (Methyl methacrylate)
         
พอลิอะคริเลต เป็นพลาสติกที่มีโครงสร้างเส้นสายเป็นแบบอะแทกติก (Atactic)  กล่าวคือ  โมเลกุลมีกิ่งหรือแขนงไม่แน่นอนสั้นบ้างยาวบ้าง  มีความโปร่งใสมาก  (แสงผ่านได้ประมาณร้อยละ ๙๒)  จึงเป็นวัสดุมาตรฐานที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์  เช่น  เลนส์ และฝาครอบไฟท้าย
         
สมบัติทั่วไป
            
- มีความโปร่งใสคล้ายกระจก
            - ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
            - ทนทานต่อสารเคมีหลายประเภทยกเว้นตัวทำละลายบางชนิด เช่น คลอโรฟอร์ม
            - ใส่สีให้มีสีสันได้ตามความตองการ
            - มีจุดอ่อนตัวต่ำ มีความเหนียว
            - คงรูปดีมากและทนทานต่อการขีดข่วน
            - รวมตัวกับพอลิเมอร์ชนิดอื่นได้
            - เป็นฉนวนไฟฟ้า
            - ไม่ดูดความชื้น
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิอะคริเลต
               
อาจนำพอลิอะคริเลตมาใช้แทนกระจกทั้งใสและเป็นสีชา  ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ  ได้แก่  กล่องพลาสติก  กระจกกันลมสำหรับเรือเร็วกระจกบังลมสำหรับหมวกนิรภัย  ชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์  เส้นใยนำแสง  (Fiberoptics) กระจกโคมไฟรถยนต์ แผ่นป้าย และป้ายโฆษณา

พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate)
          พอลิคาร์บอเนต เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส  และแข็งมาก  ต้านทานการขีดข่วนได้ดี  จึงมักใช้ทำผลิตภัณฑ์แทนแก้วหรือกระจก
         
สมบัติทั่วไป
            
- มีความใสคล้ายกระจก
             - ผสมสีได้ง่าย
             - มีความแข็ง  เหนียว  และยึดเกาะตัวดีมาก  คงรูปดี
             - เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดี
             - ทนความร้อนได้สูง  จึงใช้แทนกระจกได้เป็นอย่างดี
             - ไม่ติดไฟแต่จะทำให้ไฟดับ
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิคาร์บอเนต
              ลักษณะของเรซินมีทั้งเป็นเม็ดใส  เป็นผง และเป็นแผ่น  เหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์  เช่น  การฉีดเข้าแม่พิมพ์หรือเอกซ์ทรูชัน  ใช้ทำโคมไฟฟ้า กระจกเลนส์โคมไฟหน้าของรถยนต์  กระจกแว่นตา  ภาชนะ และขวดพลาสติก ใบพัดเรือ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์


ไนลอน (Nylon)
          ไนลอนเป็นพอลิเมอร์ที่มีมานาน  คนไทยมักรู้จักไนลอนในรูปของเสื้อผ้า และเชือกไนลอน  ผลิตภัณฑ์ไนลอนที่นิยมใช้แพร่หลายมีหลายชนิด เช่น ไนลอน ๔ ไนลอน ๖,๖  ไนลอน ๖,๑๐  ไนลอน ๑๐  และไนลอน ๑๑
         
สมบัติทั่วไป
              - มีสีขาวขุ่น โปร่งแสง
              - สามารถผสมกับสีได้ดี
              - หล่อลื่นในตัวเอง
              - ทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและน้ำมัน
              - ไม่ทนทานต่อกรดเเก่
              - ดูดความชื้น ทำให้เกิดการหดและยืดตัว
              - เป็นฉนวนไฟฟ้า
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไนลอน
               
เนื่องจากไนลอนมีสมบัติที่ดีในด้านความเหนียวและมีผิวลื่น  จึงมักใช้ทำเฟืองเกียร์แทนโลหะ เพื่อลดการใช้สารหล่อลื่นทำเส้นใยที่มีเส้นละเอียดมากสำหรับทอเป็นผ้า  และผลิตเครื่องนุ่งห่ม  ลักษณะของเรซินมีทั้งที่เป็นเม็ด  แผ่น แท่ง และทออีกด้วยผลิตภัณฑ์จากไนลอนที่พบเห็นได้ทั่วไปได้แก่ เครื่องมือช่าง ฝาครอบไฟฟ้าภายในรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อวน แห หวี รอกและเชือกราวม่าน  เฟืองเกียร์  ลูกปืนที่ใช้ในเครื่องจักรกลทีไม่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นผ้าไนลอน และใบเรือ

พอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน (Polytetrafluoroethylene : PTFE)

          พอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน  (พีทีเอฟอี)  เป็นพลาสติกชนิดพิเศษที่รู้จักกันดีชนิดหนึ่ง เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เทฟลอน”  มีคุณสมบัติดีเยี่ยมในด้านความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี และทนความร้อนสูง  สีขาวขุ่นผิวมีความลื่นมัน  ไม่ต้องการสารหล่อลื่นเนื่องจากมีความทนทานต่อความร้อนสูงมากจึงทำให้กระบวนการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ต้องใช้ความร้อนสูงและมีความยุ่งยากกว่าพลาสติกชนิดอื่น
         
สมบัติทั่วไป
              
- มีสีขาวขุ่น ค่อนข้างทึบแสง  ผิวเป็นมันและลื่นมาก
              - ทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีที่อุณหภูมิสูง
              - ทนความร้อนได้สูงถึง  ๓๐๐  องศาเซลเซียส
              - เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี
        
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพอลิเททระฟลูออโรเอทิลีน
              ลักษณะของเรซินเป็นของเหลว  เป็นเม็ดและเป็นผง  ใช้เคลือบด้ามเครื่องมือช่างเคลือบภายในหม้อและกระทะทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมัน หุ้มสายไฟฟ้า แหวนลูกสูบของเครื่องยนต์ ลูกปืนที่ใช้ในเครื่องจักรกลที่ไม่ต้องการสารหล่อลื่น  ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองทางเคมี  เช่น  หลอดทดลองบีกเกอร์  นอกจากนี้ยังผสมกับน้ำมันหล่อลื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหล่อลื่นอีกด้วย

ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ (Phenol Formaldehyde : Bakelite)

          ฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเบกกาไลต์ เป็นพลาสติกประเภทเทอร์โมเซ็ตชนิดแรกที่รู้จักมานาน  มีสีน้ำตาลคล้ายขนมปัง  มีความแข็งและอยู่ตัว เรซินชนิดนี้มีทั้งที่เป็นของเหลวใส  เหมาะสำหรับหล่อในพิมพ์และแบบที่เป็นผงสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ซึ่งชนิดหลังนี้มีสีน้ำตาลดำเพียงอย่างเดียว
         
สมบัติทั่วไป
            
- เนื้อแข็งคงตัว แต่เปราะ  ทนทานต่อการผุกร่อน
             - เป็นฉนวนไฟฟ้า
             - ทนความร้อนได้สูง (๒๖๐ องศาเซลเซียส)
         
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์
               
ใช้ทำปลอกหุ้มคอยล์รถยนต์ แกนคอยล์ในเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์  เปลือกเครื่องโทรศัพท์สมัยโบราณ  ด้ามเครื่องมือช่าง หูหม้อ หูกระทะ ด้ามมีด ลูกบิลเลียด  แผงวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  กาวสารเคลือบผิว  ตลอดจนใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมยาง

เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine Formaldehyde)

          เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์เป็นพอลิเมอร์ที่ได้จากปฏิกิริยาคอนเดนเซชันของเมลามีนกับฟอร์มาลดีไฮด์  โครงสร้างเป็นโครงข่ายร่างแหหนาแน่นทั้งสามมิติที่แข็งแรงคล้ายฟีนอลฟอร์มาลดีไฮต์  มีสีขุ่นทึบ  ลักษณะของเรซินมีทั้งเป็นผงและเป็นเม็ด  เหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์
         
สมบัติทั่วไป
              
- มีเนื้อแข็งมาก ทนทานต่อการขีดข่วน  เหนียวไม่แตกง่าย
              - ผสมสีได้ดี
              - ทนทานต่อน้ำยาฟอกสี ผงซักฟอกน้ำมัน
              - ไม่ติดไฟ ไม่อ่อนตัวเมื่อได้รับความร้อน  แต่เมื่อถูกความร้อนสูงจะไหมเกรียม
              - เป็นฉนวนไฟฟ้า
              - ไม่ดูดความชื้น
        
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์
                ใช้ทำจาน ชาม ถ้วยกาแฟ เครื่องใช้ภายในครัว  เครื่องประดับบ้าน  เครื่องผสมอาหาร สวิตช์ไฟฟ้า ขั้วไฟฟ้า ทำกาวในอุตสาหกรรมไม้อัด เคลือบไม้  ผ้าและกระดาษ

ข้อมูลจาก sanook.com
บริษัท สยามเซฟตี้พลัส จำกัด อุปกรณ์เซฟตี้ |อุปกรณ์ความปลอดภัย|Safety Shoes  
กลับไปรายการกระดานข่าว

เพื่อนบ้าน :อุปกรณ์ความปลอดภัย,safety shoes,safety footwear,กลูต้า