กลับไปรายการกระดานข่าว ตอบกลับ โพสใหม่

ความรู้เกี่ยวกับปิโตรเลียมเบื้องต้น

ปิโตรเลียมคืออะไร

              ปิโตรเลียมเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอันสลับซับซ้อน ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในชั้นหินใต้พื้นผิวโลก โดยมีธาตุที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ  ธาตุไฮโดรเจน  และธาตุคาร์บอน ซึ่งได้จากการสลายตัวของอินทรีย์สาร  และอาจมีธาตุอื่น ๆ  เช่น  กำมะถัน ออกซิเจน  ไนโตรเจน  ปนอยู่ด้วย  ปิโตรเลียมอาจมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว  หรือก๊าซก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียมสภาวะความดัน และอุณหภูมิที่มันสะสมตัวอยู่  ปิโตรเลียมมีคุณสมบัติที่ไวไฟ เมื่อนำมากลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ  เช่น  ก๊าซหุงต้ม  น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด  น้ำมันดีเซล  น้ำมันเตา  และยางมะตอย ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นบางชนิดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นและจารบี  รวมทั้งเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ  เช่น  ปุ๋ยเคมี  ยาปราบศัตรูพืช พลาสติก  และยางสังเคราะห์  เป็นต้น  คำว่า  “ปิโตรเลียม”  (Petroleum) ที่มาจากภาษาละติน  2  คำ  คือ  คำว่า  “เพตรา”  (Petra)  ซึ่งแปลว่าหิน และคำว่า  “โอเลียม”  (Oleum)  ซึ่งแปลว่า  น้ำมัน

              ทั้งนี้ปิโตรเลียมที่จะกล่าวต่อไปในเอกสารฉบับนี้  หมายถึง น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ  ซึ่งเป็นรูปแบบของปิโตรเลียมเรานำมาใช้ประโยชน์
มากที่สุดในปัจจุบัน

น้ำมันดิบ


              น้ำมันดิบมีสถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ที่ประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่  แบ่งออกได้เป็น 3  ชนิด  ตามคุณสมบัติและชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่  คือ
               1. น้ำมันดิบฐานพาราฟิน
               2. น้ำมันดิบฐานแอสฟัลต์
               3. น้ำมันดิบฐานผสม
ซึ่งน้ำมันดิบทั้ง  3  ชนิด  เมื่อนำมากลั่นแล้วจะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน


ก๊าซธรรมชาติ


              ก๊าซธรรมชาติเป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ ก๊าซธรรมชาติจะประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนในปริมาณร้อยละ 95  ขึ้นไป ส่วนที่เหลือจะเป็นไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่เพียงเล็กน้อย ไฮโดรคาร์บอนในก๊าซธรรมชาติจัดอยู่ในอนุกรมพาราฟิน มีคุณสมบัติอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลงทางเคมีในสภาวะปกติ ก๊าซธรรมชาติมีองค์ประกอบส่วนใหญ่คือ  มีเทน  (CH4) ซึ่งมีน้ำหนักเบาที่สุด  และจุดเดือดต่ำที่สุดเป็นส่วนประกอบถึงประมาณร้อยละ 70 ขึ้นไป  

คุณสมบัติของปิโตรเลียม


              คุณสมบัติของปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอนและสิ่งเจือปนอื่น  ๆ  ที่รวมอยู่ด้วย โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอินทรียวัตถุ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปิโตรเลียมและสภาพแวดล้อมของแหล่งที่เกิดปิโตรเลียม

              น้ำมันดิบโดยทั่วไปจะมีสีดำหรือสีน้ำตาล มีกลิ่นคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป แต่บางชนิดจะมีกลิ่นของสารผสมอื่นด้วย  เช่น  กลิ่นกำมะถัน และกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า  เป็นต้น ความหนืดของน้ำมันดิบก็แตกต่างกันไปตั้งแต่เป็นของเหลวเหมือนน้ำ จนกระทั่งหนืดคล้ายยางมะตอย สำหรับความถ่วงจำเพาะของน้ำมันดิบจะอยู่ประมาณ  0.80 – 0.97  ที่  15.6 องศาเซลเซียส  (60  องศาฟาเรนไฮต์)  ซึ่งเบากว่าน้ำ ดังนั้นเมื่อน้ำมันดิบรวมอยู่กับน้ำ  น้ำมันดิบจึงลอยอยู่เหนือน้ำ

              สำหรับก๊าซธรรมชาติแห้งจะไม่มีสีและกลิ่น  ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (หรืออาจเรียกว่าคอนเดนเสท)  จะมีลักษณะคล้ายกับน้ำมันเบนซิน และก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับน้ำมันดิบ


การขนส่งลำเลียง



               
เนื่องจากส่วนใหญ่แหล่งผลิตปิโตรเลียมและแหล่งที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมมักอยู่ต่างสถานที่กัน  โดยเฉพาะในปัจจุบันแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่ใหญ่ ๆ ของโลกมีเพียงไม่กี่แห่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานหลักในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ และเกี่ยวพันกับการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นการขนส่งลำเลียงจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญอีกกระบวนการหนึ่งของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

              การขนส่งลำเลียงในที่นี้จะกล่าวถึงการขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเท่านั้น  ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมชนิดอื่น ๆ  เช่น เคมีภัณฑ์  เป็นต้น  และขั้นตอนของการขนส่งลำเลียงที่จะกล่าวถึงนี้ จะครอบคลุมทั้งการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตไปยังโรงกลั่นหรือโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และการขนส่งลำเลียงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ได้จากการกลั่นหรือการแยกไปยังผู้ใช้

               การขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีความยากลำบากกว่าการขนส่งลำเลียงสินค้าประเภทอื่น ๆ  อยู่มาก ด้วยเหตุผลหลายประการ  อาทิ  น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน  ทำให้ต้องแยกภาชนะในการขนส่งลำเลียง เพื่อมิให้ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดปะปนกัน เหตุผลอีกประการหนึ่งก็เนื่องมาจากคุณสมบัติของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบางชนิดระเหยเร็วและไวไฟ  ดังนั้นภาชนะและพาหนะ รวมทั้งวิธีการที่ใช้ในการขนส่งลำเลียง จำต้องได้รับการออกแบบและเพิ่มมาตรการเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งลำเลียงด้วย

              การขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะเริ่มแรกนั้นทำได้ครั้งละเป็นปริมาณไม่มากนัก  ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบรรจุลงในภาชนะขนาดเล็ก  (Package)  ก่อน แล้วจึงขนส่งลำเลียงต่อด้วยรถยนต์  เรือ  และรถไฟ ซึ่งใช้บรรทุกสินค้าโดยทั่วไป  ต่อมาด้วยวิวัฒนาการทางด้านการคมนาคม ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้มีการคิดค้นออกแบบกระบวนการขนส่ง ที่สามารถลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแต่ละครั้งได้ในปริมาณมาก ๆ (Bulk)  โดยไม่ต้องระบุลงในภาชนะเล็กก่อน ซึ่งกระบวนการขนส่งลำเลียงดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น  4  ประเภทหลัก ๆ คือ  การขนส่งลำเลียงทางท่อ  (Pipeline)  ทางเรือ  (Tanker & Barge) ทางรถไฟ  (Tank Car)   และทางรถบรรทุก  (Tank Truck)

              การขนส่งนั้นและก๊าซธรรมชาติผ่านท่อซึ่งปกติจะเป็นท่อเหล็ก นับว่าเป็นวิธีการขนส่งที่สะดวกที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจาหลุมผลิตไปยังสถานีชายฝั่งและโรงกลั่นน้ำมัน

              การขนส่งลำเลียงน้ำมันทางท่อในสมัยก่อน ใช้แรงดันใต้พื้นดินของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากหลุมผลิต รวมทั้งใช้ความแตกต่างของระดับความสูงเป็นแรงขับเคลื่อนให้น้ำมันไหลตามท่อ ทำให้สามารถลำเลียงน้ำมันผ่านท่อได้ในระยะทางไม่ไกลนัก แต่ในปัจจุบันมีการเพิ่มเครื่องอัดแรงดันเพื่อเพิ่มแรงขับเคลื่อนภายในท่อ ทำให้สามารถลำเลียงน้ำมันผ่านท่อได้เร็ว  และได้ระยะทางไกลขึ้น

ก๊าซ – ผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้วิธีการขนส่งลำเลียงเป็นพิเศษ


              ก๊าซไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซหุงต้ม (ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ) ก็ตามจะมีคุณสมบัติเป็นไอภายใต้อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ ดังนั้นภาชนะหรือพาหนะที่ใช้ขนส่งลำเลียงก๊าซจะต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ  เพื่อป้องกันให้การระเหยกลายเป็นไอของก๊าซเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด

              การขนส่งลำเลียงก๊าซจะต้องใช้ภาชนะ หรือพาหนะในการขนส่งลำเลียงที่มีขนาดใหญ่เป็น  270 เท่าของการขนส่งลำเลียงน้ำมันดิบ หากมิได้ทำการเปลี่ยนสถานะของก๊าซเสียก่อน ดังนั้นการขนส่งลำเลียงหรือแม้แต่การเก็บรักษาก๊าซ จะต้องเปลี่ยนสถานะก๊าซให้เป็นของเหลวเสียก่อน โดยการเพิ่มความดันหรือลดอุณหภูมิของก๊าซ ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งลำเลียงก๊าซมากกว่าการขนส่งลำเลียงน้ำมันถึงประมาณ  4  เท่า


การขนส่งลำเลียงโดยเรือบรรทุก  (Tanker & Barge)


              การขนส่งลำเลียงทางเรือ เป็นวิธีที่สามารถขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซได้ครั้งละประมาณมาก ๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งถูกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการขนส่งลำเลียงในระยะทางไกล ๆ ลักษณะโดยทั่วไปของเรือบรรทุกน้ำมันเป็นแบบระวางเปิด ภายในระวางเรือจะแบ่งเป็นช่อง ๆ  ทั้งแบบแนวยาวและแนวขวาง เสมือนกับมีถังบรรจุน้ำมันทรงสี่เหลี่ยมหลายถังวางรวมกันอยู่ในเรือ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการทรงตัวและความปลอดภัย  เช่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุเรือรั่ว  ณ  จุดใดจุดหนึ่ง ก็จะไม่ทำให้เรือทั้งลำต้องจมลง นอกจากนั้นช่องระวางที่ถูกแบ่งไว้ยังจะเป็นประโยชน์ ให้สามารถบรรทุกผลิตภัณฑ์ได้มากชนิดโดยไม่ปะปนกันด้วย

              สำหรับเรือบรรทุกก๊าซนั้นต้องออกแบบถังบรรจุเป็นพิเศษแตกต่างกันออกไป จึงแทบกล่าวได้ว่าเรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซนั้น ได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย  และก้าวหน้ากว่าเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ  ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในการขนส่งลำเลียงนั่นเอง เรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซ สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทตามปริมาณการบรรทุกน้ำมันและก๊าซ รวมถึงลักษณะการใช้งาน นับตั้งแต่ขนาดเล็กที่ใช้ขนส่งลำเลียงน้ำมันในแม่น้ำลำคลอง  (Barge) จนถึงเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่  (Tanker) ที่สามารถขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซ  ได้ครั้งละมากกว่า  500 ล้านลิตรขึ้นไป


การขนส่งลำเลียงน้ำมันทางรถไฟ  (Tank Car)


              นอกจากการขนส่งทางเรือแล้วการใช้รถไฟในการขนส่งน้ำมัน ก็นับเป็นวิธีการที่สามารถขนส่งลำเลียงน้ำมันได้ครั้งละเป็นปริมาณมาก ๆ เช่นเดียวกัน โดยการขนส่งน้ำมันทางรถไฟใช้มากในการขนส่งลำเลียงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูประยะทางไกล ๆ  ที่ไม่สามารถขนส่งลำเลียงได้โดยทางเรือ

             ถังสำหรับบรรจุน้ำมันในปัจจุบันเป็นถังเหล็กทรงกระบอกรูปกลม  หรือรูปไข่ วางนอนบนแคร่รถไฟ  ลักษณะภายในถังแบ่งเป็นช่อง ๆ ตามแนวขวาง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของถังและลดการกระแทก อันเกิดจากการกระฉอกของน้ำมันในระหว่างการขนส่งลำเลียง


การขนส่งลำเลียงโดยรถบรรทุก  (Tank Truck)


              การขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซโดยใช้รถบรรทุก นับเป็นวิธีการที่เก่าแก่ในการใช้ขนส่งลำเลียงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปไปสู่ผู้ใช้ ลักษณะโดยทั่วไปของถังบรรจุน้ำมันและก๊าซของรถบรรทุกน้ำมันและก๊าซ จะคล้ายคลึงกับถังที่ใช้ในการขนส่งลำเลียงน้ำมันโดยทางรถไฟ กล่าวคือจะเป็นถังทรงกระบอกรูปไข่  ภายในถังจะแบ่งเป็นช่อง ๆตามแนวขวางซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของถัง และลดแรงกระแทกของน้ำมันในถังแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถขนส่งลำเลียงน้ำมันได้มากชนิดบนรถคันเดียวโดยไม่ปะปนกันด้วย


ที่มาของข้อมูล  :  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กระทรวงพลังงาน
บริษัท สยามเซฟตี้พลัส จำกัด อุปกรณ์เซฟตี้ |อุปกรณ์ความปลอดภัย|Safety Shoes  
กลับไปรายการกระดานข่าว

เพื่อนบ้าน :อุปกรณ์ความปลอดภัย,safety shoes,safety footwear,กลูต้า